Publication Ethics

จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงาน

จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร (Publication Ethics)

     วารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต จัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเผยแพร่งานทางวิชาการในประเภทบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความปริทัศน์ และบทความวิจารณ์หนังสือ ในด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (ครุศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อาชญาวิทยา บริหารธุรกิจ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง) ให้กับนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา บุคลากรภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยที่สนใจ เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ ซึ่งมีการดำเนินการจัดพิมพ์และเผยแพร่โดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย ตามข้อกำหนดของ Committee on Publication Ethics (COPE) สำหรับการดำเนินงานของวารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต ตามบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม อันได้แก่ บรรณาธิการ (Editor) ผู้นิพนธ์ (Author) และ ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties  of  Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่ดำเนินงานวารสารให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสาร ปรับปรุงและพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐานสากลอย่างสม่ำเสมอ
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ โดยพิจารณาจากความชัดเจน ความสอดคล้องกับเนื้อหาและนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
  3. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  4. บรรณาธิการมีหน้าที่ในการตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) ในบทความอย่างตามเกณฑ์กำหนดของวารสารเพื่อไม่ให้บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารมีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ
  5. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่แหล่งตีพิมพ์อื่นมาแล้ว และไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความโดยใช้เหตุผลและความรู้สึกส่วนตัว
  6. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความในวารสารที่ตนรับผิดชอบเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
  7. บรรณาธิการต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นิพนธ์ ผู้อ่าน ผู้ประเมินบทความและผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาจากการแสวงหาผลประโยชน์และความต้องการทางธุรกิจ

 บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties  of Authors)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานของตนที่ส่งมานั้นเป็นผลงานที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในแหล่งใด ๆ มาก่อนและไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น โดยต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิง และต้องทำรายละเอียดเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความด้วย
  2. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้
  3. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ (บทความวิจัย)
  4. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง
  5. ผู้นิพนธ์ต้องไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งตีพิมพ์อื่นอีกหลังจากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่กับวารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิตแล้ว
  6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุในบทความหากได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (กรณีมีการวิจัยในมนุษย์)

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties  of  Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ประเมิน และไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ อาทิเช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักนิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้
  3. ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นหลัก ควรพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติ หรือความเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
  4. ผู้ประเมินบทความ ควรตระหนักว่าตนเองมีความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของผลงานทางวิชาการที่ประเมินอย่างแท้จริง โดยพิจารณาความสำคัญด้านเนื้อหาในบทความ คุณภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้มข้นของผลงาน
  5. หากผู้ประเมินบทความ ตรวจพบว่าบทความที่พิจารณาอยู่ มีความเหมือนหรือความซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย
  6. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาในการประเมินพิจารณาบทความตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

การรับรองความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ

  1. เมื่อมีการรับรู้ว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ไปแล้ว รวมถึงมีประโยคที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือเป็นรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง บรรณาธิการจะดำเนินการแก้ไขทันทีด้วยขั้นตอนที่มีความชัดเจน
  2. หากปรากฏการประพฤติทุจริตภายหลังการดำเนินการตรวจสอบแล้ว บรรณาธิการต้องดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นพร้อมด้วยหลักฐานที่ปรากฎและสามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้การเพิกถอนนี้ต้องให้ผู้อ่านและระบบฐานข้อมูลอื่น ๆ ทราบด้วย
  3. ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทำผิดข้อตกลง วารสารจะตัดสิทธิการตีพิมพ์ผู้นั้นเป็นระยะเวลา 1 ปี และวารสารจะแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัดหรือผู้นิพนธ์แล้วแต่กรณี