ตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลาง: ความสมานฉันท์ในความหลากหลาย
Keywords:
อัตลักษณ์, ความสมานฉันท์, ความหลากหลาย, พหุวัฒนธรรม, ตำนาน, ท้องถิ่นAbstract
ในพื้นที่และท้องถิ่นต่าง ๆ มีการบันทึกเรื่องราว บอกเล่า รูปแบบนิทาน ตำนาน สะท้อนถึงรูปแบบวิถีชีวิต ความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐาน ความเชื่อ แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ เรื่องราวของตัวตนหรืออัตลักษณ์ ของชุมชน ประชามคม ในพื้นที่นั้น นิทาน ตำนาน ในท้องถิ่นทั้งหลายจึงมิใช่สิ่งไร้คุณค่าหรือเรื่องราวที่ไว้ฟังเพื่อความเพลิดเพลินหรือสอนศีลธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ท้องถิ่นใดที่มีเรื่องเล่าในรูปแบบนิทาน ตำนาน เป็นจำนวนมาก เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเจริญในการตั้งถิ่นฐานของพื้นที่นั้นในอดีต ความสำคัญของพื้นที่นั้นในด้านการค้า ที่ทำให้เป็นที่รวมตัวกันของชนจากที่ต่าง ๆ เกิดการประสานเชื่อมร้อยทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สร้างเป็นชุมชน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา
ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลางและชายฝั่งทะเลของไทย เป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐาน มีชุมชนมาแต่อย่างน้อยครั้งทวารวดี และมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำถือว่าเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากหัวเมืองต่าง ๆ มาสู่เมืองราชธานีอย่างกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ตลอดเส้นทางของแม่น้ำมีการเกิดขึ้นของชุมชน ที่บางที่พัฒนามาเป็นเมืองขนาดเล็ก บางที่พัฒนาเป็นเมืองขนาดใหญ่ ตามแต่ขนาดปริมาณของการค้าและความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ การติดต่อค้าขายโดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญนี้ ยังได้นำพาให้คนต่างพื้นที่ต่างถิ่นได้เคลื่อนย้ายไปยังเมืองต่างๆ เพื่อติดต่อค้าขาย ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรมจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง นอกจากคนต่างถิ่นแล้ว คนต่างชาติต่างภาษาที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนจำนวนมากก็ได้ใช้เส้นทางการค้าผ่านแม่น้ำลำคลอง เข้าไปค้าขายในหัวเมืองต่างๆ และมีการตั้งถิ่นฐาน ประสานกลมกลืนกับคนในพื้นที่เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่กันได้อย่างสมานฉันท์และกลมกลืนกับคนไทยมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ในโลกสมัยใหม่ที่มีความเจริญทางวิทยาการต่าง ๆ ล้ำหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งสังคมที่มีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างนั้น การศึกษาตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นถิ่นต่าง ๆ ที่โครงเรื่องหรือพื้นฐานของเรื่องอยู่บนหลักการสังคมชนบท สังคมเกษตรกรรม สังคมที่ไม่มีความซับซ้อน และเต็มไปด้วยเรื่องศีลธรรม ยังมีความจำเป็นหรือมีความสำคัญอีกหรือ เพราะในทัศนะของคนจำนวนมาก ตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นถิ่นเหล่านี้ ดูแล้วเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะจริง ไม่สมจริง คร่ำครึ และไม่มีความหมายหรือความเกี่ยวข้องกับคนสมัยใหม่ อาจจะมีประโยชน์บ้างเพียงเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเป็นสิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าพื้นบ้าน ผ่านการเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเสริมเพิ่มเข้าไป ซึ่งการพิจารณาเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการพิจารณาตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นถิ่นต่าง ๆ อย่างผิวเผิน โดยไม่ศึกษาวิเคราะห์บริบททางสังคมที่เป็นที่มาของตำนานนั้น และยังละเลยถึงการวิเคราะห์ทางการสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ต่าง ๆ ที่กล่าวได้ว่าในที่สุดก็เป็นรากฐานให้กับชุมชน สังคมสมัยใหม่นั้นเอง
“ตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลาง: ความสมานฉันท์ในความหลากหลาย” เล่มนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาตำนาน นิทาน เรื่องเล่าของชุมชนริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลางของไทยโดยได้จำแนกประเภทของตำนานเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ตามศาสนากลุ่มชาติพันธุ์ และทำการวิเคราะห์ถึงรูปแบบลักษณะเนื้อเรื่องในตำนาน ตัวเอกในตำนาน การดำเนินเรื่องของตำนานที่สะท้อนถึงการตั้งถิ่นฐาน ร่องรอยของจารีตและความเชื่อในท้องถิ่น นำมาสู่การอธิบายถึงคุณค่าของตำนาน นิทาน พื้นถิ่นต่าง ๆ ว่าคือการสร้างหรืออธิบายอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่นั้น ตลอดจนมุมมองของคนในพื้นที่นั้น ๆ ที่มีต่อคนต่างถิ่นที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทั้งทางการค้าและวัฒนธรรม ตลอดจนการสื่อถึงมุมมอง ความเข้าใจของกลุ่มชนในพื้นที่นั้น ๆ กับชุมชนอื่นหรือท้องที่อื่น นำมาสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันในลักษณะพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายแต่เชื่อมร้อยเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้
ดังนั้น การศึกษาตำนานประจำถิ่น เรื่องเล่า นิทานพื้นถิ่น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ควรสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความตั้งใจจะทำงานในสายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น การศึกษาตำนานประจำถิ่น เรื่องเล่า ในพื้นที่ จะทำให้เข้าใจรูปแบบวิถีชีวิต ความคิดและวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทำการประยุกต์รูปแบบการปฎิบัติงานให้เข้ากับความเชื่อ วัฒนธรรมของท้องที่ท้องถิ่นนั้น อันจะนำมาสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือแต่ตำรา คู่มือปฏิบัติหรือมาตรฐานความเข้าใจจากส่วนกลาง โดยไม่สนใจต่อขนบจารีต ความเชื่อในพื้นที่ต่าง ๆ ย่อมนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ และมีโอกาสที่ความขัดแย้งนั้นจะนำไปสู่ปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
Downloads
Published
Issue
Section
License
Copyright (c) 2021 Suan Dusit Graduate School Acadamic Journal
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.